Sunday, February 27, 2022

Digital Forensics: กรณีศึกษาลูกจ้างออกจากบริษัทแล้ว ยังเข้าใช้อีเมลบริษัท เป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

Digital Forensics: กรณีศึกษา: ลูกจ้างออกจากบริษัทแล้ว ยังเข้าใช้อีเมลบริษัท เป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์จำเลยได้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เข้าถึงซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับจำเลย และจำเลยส่งออกซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ อันเป็นข้อมูลลับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการบินพาณิชย์ โดยส่งออกไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งจำเลยทราบดีว่าโจทก์ห้ามมิให้ส่งข้อมูลที่จำเลยเข้าถึงและส่งไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของจำเลยเผยแพร่ไปสู่บุคคลภายนอก ให้ใช้ได้ฉพาะภายในบริษัทโจทก์เท่านั้น แสดงว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นข้อมูลที่โจทก์หวงแหน ห้ามมิให้บุคคลอื่นได้เข้าถึง
ดังนี้ การกระทำของจำเลยซึ่งลาออกจากบริษัทโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยยังเข้าไปในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และส่งไฟล์ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการบินพาณิชย์อันเป็นความลับของโจทก์ ไปยังจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 7 และมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
องค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ข้อที่ว่า ที่มีมาตรการโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน หมายความว่า เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ได้มีการกำหนดวิธีการเข้าสู่ระบบไว้โดยเฉพาะแล้ว หากผู้ไม่มีสิทธิเช่นจำเลยนี้ซึ่งได้ลาออกจากบริษัทโจทก์ไปก่อนหน้านี้ได้เข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือไม่มีสิทธิหรืออำนาจที่จะสามารถทำได้อีกต่อไป ผู้นั้นก็ย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ได้ กระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 7
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
ปรากฏว่านิยามศัพท์คำว่า “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ได้ให้ความหมายคำว่า “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ไว้ว่า “ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือโทรสาร” ดังนั้น ความหมายจึงรวมไปถึงจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2563

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 3 7 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 ม.3 ม.7

ที่มา: FB PAKORN DHARMAROJ


หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น

* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ

#WindowsForensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics #computerforensic #investigation #cybercrime #fraud 

No comments:

Post a Comment

Digital Forensics:CDIC2024

Digital Forensics:CDIC2024    งานสัมมนาประจำปีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  27-28 พฤศจิกายน 2567 ณ Grand Hall ไบเทค บางนา วันนี้แอดแวะมางาน ...