Thursday, March 12, 2020

DIGITAL FORENSICS:การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing)

DIGITAL FORENSICS:การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing)

 
ขออนุญาตแชร์เพื่อการศึกษา  Facebook ท่าน Pakorn Dharmaroj

 12 มีนาคม 2563
  การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing)


การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing) รหัสผ่าน (Password) บัญชีอินสตาแกรม (instagram.com) ของผู้เสียหาย + ใช้ชื่อและรหัสผ่าน ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ Hack instragram เข้าบัญชีผุ้เสียหาย + แล้วประกาศขายสินค้าฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่่น
 

การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing)


ข้อ 1. ก่อนและขณะเกิดเหตุคดีนี้ นางสาว ส. ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้บริการเว็บไซต์ www.instagram.com หรือเรียกเป็นการทั่วไปว่า อินสตาแกรม หรือ IG ซึ่งผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ให้บริการจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายและข้อความในรูปแบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ สำหรับเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้โปรแกรมประยุกต์ (Content and Application Service Provider) โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถสมัครใช้งาน เป็นสมาชิก โดยการสร้างบัญชีผู้ใช้งาน สำหรับจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายและข้อความ เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการอื่นใดตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงหรือเรียกดูข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บไว้สำหรับเผยแพร่ได้

การใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) สำหรับจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายและข้อความ เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ผู้สมัครใช้บริการรวมถึงผู้เสียหายที่ 1 จะทำการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงชื่อบัญชีอีเมล (Electronic Mail Account หรือ ชื่อบัญชีผู้ใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) หรือหมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลอื่นตามที่ผู้ให้บริการกำหนด แล้วได้รับชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) พร้อมรหัสผ่าน (Password) สำหรับการเข้าใช้บริการของสมาชิกแต่ละราย โดยการเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) แต่ละครั้ง สมาชิกผู้สมัครใช้บริการจะต้องกรอกข้อมูล ชื่อบัญชีอีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมรหัสผ่าน (Password) ตามที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) กำหนด เพื่อเข้าใช้บริการแก้ไข เพิ่มเติม ข้อมูลภาพถ่ายและข้อความในรูปแบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) ของตนได้ โดยผู้เสียหายที่ 1 ใช้ชื่อบัญชีอีเมล fxxx@gmail.com และหมายเลขโทรศัพท์ 098 496 xxxx ในการสมัครสมาชิกและใช้ในการระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ในการเข้าใช้บริการ และใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ว่า fahxxxxx

ทั้งนี้ การใช้ชื่อบัญชีอีเมล fxxx@gmail.com หรือหมายเลขโทรศัพท์ 098 496 xxxx และรหัสผ่าน (Password) ในการระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ของสมาชิก เพื่อเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ถือเป็น ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสาร หรือวัตถุอื่นใดให้ และมีวิธีการใช้เพื่อแสดงตัวตนและพิสูจน์ตัวตนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบันทึกข้อมูลลงในแถบแม่เหล็ก หรือไมโครชิป ซึ่งถือเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ด้วย

  
ข้อ 2. จำเลยนี้ได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนี้
2.1 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เวลากลางวันและกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยนี้โดยทุจริตและโดยหลอกลวง ได้บังอาจใช้อุบายในลักษณะที่เรียกว่า ฟิชชิ่ง (Phi
shing) หลอกให้ผู้เสียหายที่ 1 กรอกข้อมูลในการระบุตัวตน (Identification) และพิสูจน์ตัวตน (Authentication) ของสมาชิก เพื่อเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ในช่องทางที่จำเลยกำหนด เพื่อให้จำเลยได้รับข้อมูลดังกล่าวของผู้เสียหายสำหรับนำไปใช้กระทำผิดต่อไป ด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ สร้างเป็นหน้าเว็บไซต์ (Web Page) ปลอม สำหรับกรอกข้อมูลชื่อบัญชีอีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมรหัสผ่าน (Password) ในการเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ส่งไปยังผู้เสียหายที่ 1 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ 1 อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 หลงเชื่อ กรอกข้อมูลชื่อบัญชีอีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมรหัสผ่าน (Password) ของผู้เสียหายที่ 1 ในการเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ลงในหน้าเว็บไซต์ (Web Page) ที่จำเลยทำปลอมขึ้น และจำเลยได้รับข้อมูลของผู้เสียหายที่ 1 ไป
(ส่วนนี้เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ประกอบวรรคท้าย)


2.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกัน ภายหลังจากที่จำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวในวรรคก่อน จำเลยได้บังอาจใช้ชื่อบัญชีอีเมล หรือหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมรหัสผ่าน (Password) ของผู้เสียหายที่ 1 ในการเข้าใช้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) อันเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิใช้ โดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) และผู้เสียหายที่ 1 ทำการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ในบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ชื่อ fahxxxxx ของผู้เสียหายที่ 1 แล้วได้บังอาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) และผู้เสียหายที่ 1 โดยมิชอบ โดยทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในส่วนของหมายเลขโทรศัพท์ 098 496 xxxx ของผู้เสียหายที่ 1 เป็นหมายเลข 064 348 xxxx แล้วเปลี่ยนเป็นหมายเลข 090 979 xxxx และทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในส่วนของใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ชื่อ fahxxxxx ของผู้เสียหายที่ 1 เป็น fahsxxxx แต่ยังคงใช้ภาพถ่ายและข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายที่ 1 สำหรับใช้หลอกลวงให้ประชาชนทั่วไป
(ส่วนนี้เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5)

 
2.3 ต่อมาภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวในคำฟ้องข้อ 2.2 จำเลยนี้โดยทุจริตและโดยหลอกลวง ได้บังอาจฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 1 ด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ของเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ในบัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) ของผู้เสียหายที่ 1 และการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในรูปแบบของข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม และข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ประกาศขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone) ในราคาถูก ให้ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นข้อความหรือเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวโดยให้ประชาชนเห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้แสดงข้อความอันเป็นเท็จได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว จำเลยไม่มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์กับประชาชนที่หลงเชื่อสั่งซื้อสินค้า และไม่มีเจตนาที่จะส่งมอบสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Phone) ตามที่ได้ประกาศชักชวนโฆษณาไว้ แต่เป็นเพียงอุบายในการหลอกลวงให้ได้เงินจากประชาชนที่หลงเชื่อสั่งซื้อสินค้า โดยไม่จำกัดจำนวนคนและจำนวนเงิน ทั้งนี้ จำเลยได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมและข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จดังกล่าว โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้บริการเว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ผู้เสียหายที่ 1 และประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น เป็นเหตุให้มีประชาชนหลงเชื่อ โอนเงินให้แก่จำเลยได้รับไปโดยทุจริต ได้แก่

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลาใดไม่ปรากฏชัด นางสาว ช. ผู้เสียหายที่ 2 ใช้บัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ชื่อ j xxxx หลงเชื่อตามประกาศดังกล่าว โอนเงินค่าสั่งซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวนเงิน 5,000 บาท เข้าบัญชีทรูวอลเลทหมายเลขโทรศัพท์ 090-979- xxxx ชื่อเจ้าของบัญชี นางสาว ธ. ให้จำเลยได้รับไปโดยทุจริต
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลาใดไม่ปรากฏชัด นาย น. ผู้เสียหายที่ 3 ใช้บัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ชื่อ a xxxx หลงเชื่อตามประกาศดังกล่าว โอนเงินค่าสั่งซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวนเงิน 14,000 บาท เข้าบัญชีทรูวอลเลทหมายเลขโทรศัพท์ 090-979- xxxx ชื่อเจ้าของบัญชี นางสาว ธ. ให้จำเลยได้รับไปโดยทุจริต
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลาใดไม่ปรากฏชัด นางสาวอินธิรา เจริญทรัพย์ ผู้เสียหายที่ 4 ใช้บัญชีผู้ใช้งาน (Username Account) เว็บไซต์อินสตาแกรม (instagram.com) ชื่อ T xxxx หลงเชื่อตามประกาศดังกล่าว โอนเงินค่าสั่งซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวนเงิน 11,000 บาท เข้าบัญชีทรูวอลเลทหมายเลขโทรศัพท์ 090-979- xxxx ชื่อเจ้าของบัญชี นางสาว ธ. ให้จำเลยได้รับไปโดยทุจริต

(ส่วนนี้เป็นความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343)

เหตุตามคำฟ้องคดีนี้ เกิดที่ตำบล ... ตำบล... อำเภอเมือง จังหวัด ... และอีกหลายท้องที่ในประเทศไทยที่ประชาชนสามารถพบเห็นประกาศขายสินค้าอันเป็นวิธีการที่จำเลยใช้ฉ้อโกง เกี่ยวพันกัน



ที่มา Facebook ท่าน Pakorn Dharmaroj

 12 มีนาคม 2563  การดำเนินคดีและร่างฟ้อง กรณี ฟิชชิ่ง (Phishing) 


 
หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น

* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ


#WindowsForensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics

#computerforensic #investigation #cybercrime #fraud

No comments:

Post a Comment

Digital Forensics:User Access Logging (UAL)

 Digital Forensics:UAL  Log What Is User Access Logging? UAL is a feature included by default in Server editions of Microsoft Windows, start...