Monday, January 13, 2025

DIGITAL FORENSICS:ตัวอย่างคดี ดักฟังโทรศัพท์ มั้ยครับ ผิดกฎหมายใด⁉️

DIGITAL FORENSICS:ตัวอย่างคดี ดักฟังโทรศัพท์ มั้ยครับ ผิดกฎหมายใด⁉️

Case study of eavesdropping
Photo by:tacticalgear "Officer’s Guide to Wiretap Investigations"

ตัวอย่างคดี ดักฟังโทรศัพท์ มั้ยครับ ผิดกฎหมายใด⁉️
คำตอบ : 
ให้ดู พระราชบัญญัติ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ครับ
มาตรา ๗๔  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อดักรับไว้ ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลอื่นใดที่มีการสื่อสารทางโทรคมนาคมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
             📍ศาลพิพากษาจำคุก “ณัฐวุฒิ - จตุพร” คนละ 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท คดีดักฟังโทรศัพท์การสนทนา เปิดเผยข้อความข่าวสาร หรือข้อมูลผู้อื่น จำเลยรับสารภาพ ประกอบหนึ่งในผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ ศาลลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท และให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
               กรณีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2550 จำเลยกับพวกร่วมกันนำข้อความ ถ้อยคำสนทนาที่มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ อันเป็นการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ติดต่อสนทนากับ นายวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และนายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ไปเปิดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ส่วน นายจักรภพ ศาลสั่งจำหน่ายคดี เพราะจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี โดยระหว่างการสืบพยานของจำเลยเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 - 3 แถลงต่อศาลขอให้การรับสารภาพ
                 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายณัฐวุฒิ และ นายจตุพร จำเลยที่ 2 และ 3 กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 74 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 21 ข้อ 1 ลงวันที่ 24 ก.ย. 2549 เรื่องห้ามดักฟังเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการทำผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 21 ข้อ 1
                พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2 - 3 คนละ 3 ปี ปรับคนละ 6 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ปรับคนละ 4 หมื่นบาท แต่ปรากฏว่าหนึ่งในผู้เสียหายทำหนังสือแถลงต่อศาลว่า ทราบวัตถุประสงค์ในการปราศรัยของจำเลยที่ 2 - 3 จึงไม่ติดใจเอาความ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี
               ภายหลัง นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้ศาลได้เมตตาให้รอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยทั้งสองรับสารภาพ ประกอบกับผู้เสียหาย 1 ใน 3 คนที่เป็นผู้พิพากษา ได้ทำหนังสือไม่ติดใจกับการกระทำของจำเลย เพราะทราบวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสองแล้วว่า เป็นการปราศรัยเพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการ ปกป้องศาสนา และสถาบันฯ โดยหนังสือดังกล่าวระบุเฉพาะพฤติกรรมของนายณัฐวุฒิ และ นายจตุพร เท่านั้น ไม่ได้มีการอ้างอิงครอบคลุมไปถึงนายจักรภพด้วย ดังนั้น ผลของคำพิพากษาของนายจักรภพ จะเป็นอย่างไรนั้น ตนคงไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งศาลได้ออกหมายจับนายจักรภพไว้แล้วและในส่วนของนายจักรภาพยังมีอีกหลายคดี ขณะที่นายณัฐวุฒิ และนายจตุพร ทั้งสองคนไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อแต่อย่างใด
-----------------------
ให้ดูแนวคำพิพากษาฎีกาประกอบ จากบทความด้านล่างนี้
*ไขคดีทุจริต... “แอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนา” สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้หรือไม่ ??? …คดีพนักงานอัยการเรียกรับสินบน สู้กันจนถึงฎีกา
…จำเลย ร.ต.อ.เฉลิม นพเก้า เมื่อครั้ง รักษาราชการในตำแหน่งอัยการจังหวัดสุรินทร์ เรียกรับทรัพย์สินจากผู้ต้องหาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีให้ได้รับโทษหนักขึ้น หากไม่ยินยอมตามที่เรียกร้อง...
...เนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปได้ความว่า “จำเลยแจ้งให้ฝ่ายแพทย์หญิง ภ. ทราบว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งไม่ฟ้องนาย อ. ข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเงิน 9,000,000 บาท โดยจำเลยจะทำการตกแต่งสำนวนการสอบสวนใหม่ด้วยวิธีสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม พร้อมกับจำเลยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อจะสั่งไม่ฟ้องนาย อ. ในข้อหาดังกล่าว”
...การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน“เจ้าพนักงานในการยุติธรรมเรียกหรือรับสินบน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 201 ทั้งยังเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุดและนาย อ. กับเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157 
ศาลชั้นต้น จังหวัดสุรินทร์ พิพากษาให้จำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำคุก 10 ปี  
ไขคดีทุจริต...คดีนี้มีความน่าสนใจประเด็นฎีกาของจำเลย 6 ประเด็น ดังนี้
1. จำเลยฎีกาว่า...การจำเลยเดินทางไปที่บ้านของบิดา นาย อ. เพื่ออธิบายข้อกฎหมายและการดำเนินคดีในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ตามที่แพทย์หญิง ภ. กับพวกสอบถาม และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต...
...ศาลฎีกา เห็นว่าจำเลยเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ไม่มีหน้าที่ต้องเดินทางไปที่บ้านของบิดานาย อ. ผู้ต้องหาเพื่ออธิบายข้อกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินคดีให้ผู้ต้องหาและญาติผู้ต้องหาทราบ 
อีกทั้งจำเลยได้เดินทางไปที่บ้านของบิดานาย อ. ผู้ต้องหา ที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ถึง 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 2, 4 และ 14 ธันวาคม 2550 ขณะที่จำเลยรับราชการอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยนำสำนวนการสอบสวนและหนังสือที่จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมไปแสดงแก่ฝ่ายแพทย์หญิง ภ. ด้วยนั้น นับเป็นข้อพิรุธผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะไม่กระทำเช่นนั้น… 
2.จำเลยฎีกาว่า...จำเลยเป็นเจ้าของสำนวนยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีว่าจะสั่งคดีประการใด แพทย์หญิง ภ. จึงวางแผนให้จำเลยถูกย้ายเพื่อไม่ให้จำเลยมีอำนาจในการสั่งคดี…
ข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกถอดเทปการสนทนาว่า แพทย์หญิง ภ. พยายามขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือนาย อ. ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเพียงแต่รอให้ทางฝ่ายแพทย์หญิง ภ. เสนอจำนวนเงินเท่านั้น…
เช่นนี้ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่แพทย์หญิง ภ. จะวางแผนกลั่นแกล้งจำเลยให้ถูกย้ายจากตำแหน่งฯ เพราะบุคคลที่จะเสียประโยชน์ทางคดี เป็นนาย อ. ผู้ต้องหาเอง
3.จำเลยฎีกาว่า...การบันทึกภาพและเสียงการสนทนา เป็นการหลอกลวงให้จำเลยตอบคำถาม ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226  ไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงมาลงโทษจำเลยได้...
เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานอัยการผ่านการว่าความในคดีต่าง ๆ ย่อมคุ้นเคยกับการซักถาม พยานในรูปแบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี กอปรกับ แพทย์หญิง ภ. ก็ใช้คำถามในลักษณะปกติ ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะหลอกลวงจำเลยที่มากประสบการณ์ในทางคดีได้ 
ตรงกันข้ามจำเลยกลับพูดอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เห็นว่าข้อหาฯ มีโทษสูงถึงประหารชีวิต และการให้จำเลยสั่งไม่ฟ้องนาย อ. เป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องไปเสี่ยงในการต่อสู้คดีชั้นศาล ส่อแสดงว่าจำเลยตอบคำถามของแพทย์หญิง ภ. ด้วยความสมัครใจ
แม้การแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนา ระหว่างจำเลยกับฝ่ายแพทย์หญิง ภ. เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ก็ตาม 
…แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำพยานหลักฐานข้างต้นมารับฟังได้ 
4.จำเลยฎีกาว่า...บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1  ใช้บังคับเมื่อวันที่  8 กุมภาพันธ์ 2551 หลังเกิดเหตุคดีนี้ จึงนำมาใช้แก่จำเลยไม่ได้...
เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ และมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง ศาลจึงมีอำนาจ นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 มาใช้บังคับ แก่คดีนี้ได้
5.จำเลยฎีกาว่า...แผ่นซีดี มีการตัดต่อเติมแต่งขึ้นใหม่ เป็นบทสนทนาที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง...
เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน เป็นพยานเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า “แผ่นซีดีไม่พบการตัดต่อ” พยานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่มีข้อน่าระแวงว่าจะเบิกความ หรือจัดทำรายงานการตรวจพิสูจน์ให้ผิดไปจากความเป็นจริง จึงมีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง
6.จำเลยฎีกาว่า...มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษ 
เห็นว่า จำเลยเป็นอัยการจังหวัด พึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตให้สมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทนายความของแผ่นดิน แต่จำเลยกลับอาศัยตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง 
ยิ่งกว่านั้น ข้อเท็จจริงตามบันทึกถอดเทปการสนทนา เชื่อได้ว่า จำเลยมิได้กระทำการเช่นนี้เป็นครั้งแรก เนื่องจากจำเลยยกตัวอย่างคดีอื่นที่จำเลยเคยสั่งไม่ฟ้อง มาแล้วโดยฝ่ายผู้ต้องหาจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน…
จึงสมควรลงโทษเพื่อมิให้เจ้าพนักงานอื่น เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 ปี นั้น เหมาะสมแล้ว 
…และเมื่อจำเลยต้องโทษจำคุกเกินกว่าห้าปี กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุก ให้แก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน...พิพากษายืน
ไขคดีทุจริต...มีคำถามจากแฟนเพจว่า กรณี “คลิปเสียงเพียงอย่างเดียวที่แอบบันทึกการสนทนา” จะใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้หรือไม่... 
…ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 2281/2555 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 “การแอบบันทึกภาพ ภาพเคลื่อนไหวและเสียง(วีดีโอ) หรือบันทึกเสียงเพียงอย่างเดียว" สามารถจะนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ ถ้า “เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา” ครับ
*เครดิต : เพจ ไขคดีทุจริต
โดย พ.ต.ท. ภูมิรพี  ผลาภูมิ  ผู้เรียบเรียง
(กฎหมายตำรวจและพนักงานสอบสวน by ภูมิรพี ผลาภูมิ)✅

ที่มา:ข้อมูลจาก(กฎหมายตำรวจและพนักงานสอบสวน by ภูมิรพี ผลาภูมิ)
วันที่ 5 พ.ย. 2564

หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น

* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ

#WindowsForensic #computerforensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics #investigation #cybercrime #fraud #กระบวนการพิสูจน์หลักฐานทางด้านดิจิทัล

No comments:

Post a Comment

Digital Forensics:แนวทางการนำสืบและรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์

Digital Forensics:แนวทางการนำสืบและรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ที่่มา: วิชาการ Talk เรื่อง แนวทางการนำสืบและรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิ...