Sunday, August 7, 2016

Digital Forensics: ข้อควรรู้เกี่ยวกับการนำพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล

Digital Forensics: ข้อควรรู้เกี่ยวกับการนำพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล


ทุกวันนี้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นๆในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการตกลงทำธุรกรรมต่างๆนั้น ผู้คนสมัยใหม่มักจะใช้ช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อและทำข้อตกลงอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นการติดต่อผ่าน อีเมล์ แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ เป็นต้น ซึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจและมักจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เป็นประจำเมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลก็คือ หลักฐานในการสนทนาโต้ตอบ ทางสื่ออิเล็กโทรนิกส์ต่างๆเหล่านี้ สามารถใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานที่ชั้นศาลได้หรือไม่ หากสามารถอ้างอิงได้มีขั้นตอนในการอ้างอิงอย่างไร
การรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐาน
ทั้งนี้ ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 11 วางหลักไว้ว่า

“ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

ในการชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดนั้นให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษา หรือสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษา ความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความลักษณะ หรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง

ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย 

ซึ่งจากข้อกฎหมายดังกล่าว สามารถอธิบายได้ว่า 
      ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
 ซึ่งหมายความรวมถึง ข้อมูลการติดต่อสื่อสารหรือสนทนาผ่าน อีเมล์ แอพพลิเคชั่นไลน์ เฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ หรือการพูดคุยโต้ตอบกันผ่านทางคอมเม้นต์ในกระทู้ต่างๆหรือในเว็บไซต์เฟซบุ๊คหรือเว็บไซต์อื่นๆ ย่อมสามารถใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ทั้งที่เป็นคดีแพ่งและคดีอาญา

โดยวิธีการนำสืบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานนั้น มิได้จำเป็นว่าจะต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปทำการประมวลผลข้อมูลเพื่อแสดงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ศาลดูหรือต้องทำการ คัดลอก ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่ซีดี ส่งไปให้ศาลแต่อย่างใด เพราะตามวรรคสามของกฎหมายดังกล่าว ได้วางหลักไว้ว่า “สิ่งพิมพ์ออก” หรือ printout ของข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์นั้น สามารถนำมาใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้ เช่นเดียวกับตัวข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นทางปฎิบัติในการนำสืบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ผู้นำสืบย่อมสามารถทำการพิมพ์ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นใส่กระดาษ  แล้วนำเอากระดาษที่พิมพ์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นไปนำสืบในชั้นศาลได้

ส่วนวิธีการนำสืบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวให้มีน้ำหนักที่ศาลจะรับฟังได้นั้น ฝ่ายที่นำสืบควรจะต้องถามค้านและนำสืบให้ศาลเห็นถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเหล่านั้นตามที่ระบุไว้ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวด้วย กล่าวคือ 
  • ผู้นำสืบควรจะนำสืบให้เห็นว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีวิธีการสร้างหรือการเกิดขึ้นที่น่าเชื่อถือ ไม่อาจถูกปลอมแปลงได้ 
  • มีวิธีการเก็บรักษาข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ไม่อาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังจากเกิดขึ้นมาแล้ว และ
  • สามารถระบุตัวผู้ส่งข้อความนั้นๆได้อย่างแน่นอน  รวมทั้งพฤติการณ์อื่นๆที่จะทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความน่าเชื่อถือ

ตัวอย่างเช่น  ในการนำสืบถึงข้อมูลทางอิเล็กโทรนิกส์ที่เป็นการตอบโต้กันผ่านอีเมล์ ไลน์ หรือเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ ผู้เขียนเห็นว่า ผู้นำสืบควรต้องนำสืบและถามค้านพยานตามแนวทางเบื้องต้นดังนี้

1.ถามค้านพยานฝ่ายตรงข้ามหรือนำสืบพยานฝ่ายเราในประเด็นว่า ผู้ส่งข้อมูลที่ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆที่ง คือบุคคลที่ฝ่ายเรากล่าวอ้างว่าเป็นผู้ส่งจริงๆ ตัวอย่างเช่น เราอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความมาหาโจทก์ทางอีเมล์ หรือโปรแกรมไลน์ หรือเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ ผู้นำสืบก็ต้องถามค้านจำเลย พยานจำเลย หรือนำสืบพยานโจทก์ที่รู้เห็นเกี่ยวข้อง ให้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อีเมล์นั้น ไลน์นั้น หรือเฟซบุ๊คนั้นจริง และเป็นผู้ส่งข้อความนั้นในวันเกิดเหตุจริง โดยการนำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยนั้นเป็นผู้ใช้และส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว อาจจะนำสืบโดยการหมายเรียกข้อมูลผู้สมัครใช้อีเมล์หรือไลน์หรือเฟซบุ๊คนั้นๆมาจากผู้ให้บริการระบบข้อมูล(อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ค) เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ส่งข้อมูลนั้นๆคือจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครใช้บริการจากเจ้าของระบบข้อมูล  หรือนำสืบถึงผู้ที่รู้จักจำเลย และเคยเห็นจำเลยใช้อีเมล์หรือไลน์หรือเฟซบุ๊คดังกล่าว หรือการนำสืบถึงพฤติการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่นว่า ข้อมูลหรือรูปถ่ายที่ปรากฎในอีเมล์หรือไลน์หรือเฟซบุ๊คนั้นๆ เป็นข้อมูลส่วนตัวของจำเลย คนอื่นๆไม่สามารถนำเข้าข้อมูลดังกล่าวได้ เป็นต้น

2 ถามค้านและนำสืบให้ศาลเห็นว่า ข้อมูลต่างๆที่ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ฝ่ายผู้อ้างไม่สามารถทำขึ้นเองได้โดยลำพัง หากปราศจากการสนทนาโต้ตอบกันจริง และผู้อ้างไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ปรากฏนั้นได้เอง เช่น หากอ้างหลักฐานการสนทนาโต้ตอบผ่านอีเมล์ ไลน์ หรือ เฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ มาเป็นพยานต่อศาล ฝ่ายผู้อ้างก็ต้องถามค้านให้เห็นว่า ข้อมูลการสนทนาที่ปรากฏขึ้นนั้น จะไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ หากไม่มีการสนทนาโต้ตอบกันจริง หรือเมื่อมีการสนทนาโต้ตอบกันแล้ว ฝ่ายผู้อ้างหรือบุคคลอื่นๆก็จะไม่สามารถทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความดังกล่าวได้ โดยการนำสืบอาจใช้วิธีการถามค้านพยานฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว หรือการหมายเรียกผู้ให้บริการระบบ หรือผู้เชี่ยวชาญ (อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ค) มาเบิกความยืนยันถึงข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการสนทนาโต้ตอบกันจริง และเมื่อมีการสนทนาโต้ตอบกันแล้ว ไม่ว่าผู้ใดก็ไม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้

3.ถามค้านและนำสืบให้เห็นว่า ข้อมูลที่พิมพ์หรือ printout ออกมานั้น ถูกต้องกับข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในสื่ออิเล็กโทรนิกส์จริง  โดยการนำสืบประเด็นนี้ เบื้องต้นผู้อ้างจะต้องเบิกความยืนยันก่อนว่า ข้อมูลที่พิมพ์หรือ printout ออกมานั้นถูกต้องกับข้อมูลที่ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยอธิบายถึงกระบวนการในการ printout   นอก จากนั้นก็ต้องถามค้านให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับ หากฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมรับ ฝ่ายผู้อ้างก็ควรจะเตรียมตัวที่จะแสดงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเปรียบเทียบกับข้อมูลที่พิมพ์หรือ printout ออกมา ได้ทันที

กล่าวโดยสรุปแล้ว หลักฐานการติดต่อสนทนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโปรแกรมในการสื่อสารยอดนิยม ที่เรามักใช้กันประจำ คืออีเมล์ ไลน์  และเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ นั้น สามารถใช้อ้างอ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้  โดยการนำสืบ สามารถนำสิ่งพิมพ์ออก หรือ printout ของข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงเป็นพยานหลักฐานต่อศาลได้ แต่ในการนำสืบนั้น ไม่ควรจะนำสืบลอยๆ แต่ควรจะต้องสืบพฤติการณ์ประกอบต่างๆที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลทางอิเล็กโทรนิกส์ดังกล่าวมีความน่าเชื่อ จึงจะมีน้ำหนักให้ศาลรับฟังได้  ซึ่งนับวันความจำเป็นในการอ้างอิงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มาเป็นพยานหลักฐานก็ยิ่งมีมากขึ้น ในคดีความหลายๆคดี ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้สามารถตัดสินผลแพ้ชนะคดีกันได้เลย ดังนั้นทนายความหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการอ้างอิงและนำสืบพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไว้…

ที่มา: ทนาย เอกสิทธื์  มกราคม 3 , 2016 srisunglaw.com


หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น

* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ

#WindowsForensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics #computerforensic #investigation #cybercrime #fraud #พยานหลักฐานดิจิทัล

No comments:

Post a Comment

Digital Forensics:User Access Logging (UAL)

 Digital Forensics:UAL  Log What Is User Access Logging? UAL is a feature included by default in Server editions of Microsoft Windows, start...