Digital Forensics:การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนการยุติธรรมไทย
เนื่องจากปัจจุบัน มีคดีความที่จำเป็นต้องอาศัยพยานหลักฐานดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที จึงได้เปิดเวที Open Forum ในหัวข้อ “มาตรฐานและแนวปฏิบัติพื้นฐาน: การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนยุติธรรมไทย (Fundamental standards and practices: Electronic data collection and analysis for judicial process)” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปฏิบัติ นักวิชาการ อัยการ ตำรวจ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลหรือดิจิทัลฟอเรสสิกส์ (Digital Forensics) ในกระบวนการยุติธรรม และการจัดทำมาตรฐานรองรับในการปฏิบัติงาน เมื่อบ่ายวันพุธที่ 20 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Open Forum ของ ETDA
ผศ. สาวตรี จำแนกหลักฐานดิจิทัลกับหลักฐานทั่วไป ว่าแตกต่างตั้งแต่การเกิดขึ้น แหล่งที่มา โดยเฉพาะวิธีเก็บรักษาให้น่าเชื่อถือ ดังนั้นการเก็บรวบรวมหลักฐานดิจิทัลต้องระวังไม่ให้มีการปนเปื้อน เพราะสามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงง่าย ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ แตกต่างจากความรู้เก่าที่คุ้นเคย
อัยการ ปกรณ์ อธิบายว่า หากเจ้าหน้าที่ขาดความรู้ในการจัดการกับหลักฐานดิจิทัล ก็จะหลีกเลี่ยงไปโฟกัสที่หลักฐานอื่นแทน ทำให้ไม่เกิดองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ เช่น กรณีฉ้อโกงที่มีพยานหลักฐานจากการสื่อสารผ่านสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความยุ่งยากในการรวบรวมหลักฐานส่งตรวจพิสูจน์ และกำหนดประเด็นในการตรวจพิสูจน์ พนักงานสอบสวนจึงมุ่งหาหลักฐานทางการเงินแทน ซึ่งบางคดีก็ใช้ได้ แต่อาจไม่ครบถ้วน ซึ่งในหลายสถานการณ์ทำให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนยังขาดความรู้เพียงพอที่จะจัดการกับพยานหลักฐานดิจิทัล
พ.ต.อ.นิเวศน์ เสริมว่า ในอดีตวิธีปฏิบัติในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานได้พยายามเลียนแบบ SOP (Standard Operating Procedure - เอกสารคู่มือการปฏิบัติงาน) ของต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครทำตาม เพราะยุ่งยากเกินไป เลยต้องปรับขั้นตอนให้ง่ายที่สุด ลดรายละเอียดลงให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เพียงพอให้ศาลเชื่อในกระบวนการทำงาน และเน้นการถ่ายภาพพยานหลักฐานเป็นหลัก ปัญหาที่พบ คือ การทำให้หลักฐานปนเปื้อนโดยไม่เจตนาจากการขาดความรู้ เช่น การนำเครื่องคอมพิวเตอร์พยานหลักฐานไปใช้ในงาน หลังจากที่ยึดมาแล้วเนื่องจากไม่มีความตระหนัก
ธงชัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดทำ SOP ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำร่างมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล ว่า ETDA ได้ร่วมมือกับคณะทำงาน ประกอบด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงไอซีที สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานอัยการสูงสุด และบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จัดทำข้อเสนอแนะการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล – Recommendation on Digital Forensic Operations ขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่หน่วยงานผู้เก็บและตรวจวิเคราะห์พยานหลักฐานดิจิทัลทุกหน่วยงานในไทยยอมรับและนำไปใช้ปฏิบัติงาน ซึ่งในเวอร์ชันแรกที่คาดว่าจะออกมาในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2559 นี้ กำหนดขอบเขตไว้ครอบคลุมถึงคอมพิวเตอร์ สื่อบันทึกข้อมูล และโทรศัพท์มือถือ แต่ในอนาคตจะเพิ่มเรื่องอื่นที่จำเป็นตามที่ผู้ร่วมเสวนาในวันนี้ได้กล่าวถึง
ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.สุพจน์ ยกตัวอย่างถึงการตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัล เช่น การตรวจโทรศัพท์มือถือ หรือการตรวจเสียงว่ามีการตัดต่อหรือไม่ เพราะมีเคสเรื่องทุจริตในลักษณะดังกล่าว เช่น เสียงในที่ประชุมที่อัดไว้ถูกตัดต่อหรือไม่ ซึ่งมีปัญหามาก และได้ขอให้ทาง ETDA ช่วยกำหนดเรื่องมาตรฐาน และได้ขอให้ทาง NECTEC มาช่วยในกระบวนการตรวจพิสูจน์ ซึ่งการทำงานด้านนี้จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น
ผศ. สาวตรี ทิ้งท้ายว่า นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล ต่อให้เขียนกฎหมายสารบัญญัติดีเลิศขนาดไหน ทั้งกฎหมายธุรกรรมฯ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมาย cybersecurity กฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ ทำให้ทุกคนเชื่อมั่น แต่ปรากฏว่ากฎหมายวิธีสบัญญัติไม่มีมาตรฐาน สมมติว่ามีคดีความที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเกิดขึ้น จำเป็นต้องมาขึ้นศาลไทย กลับกลายเป็นว่ากระบวนการพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลยังไม่มีมาตรฐาน ย่อมเป็นตัวกั้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ดังนั้น ต้องนำเรื่องนี้ไปผนวกกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ แม้แต่ประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญในเรื่องนี้
Open Forum หัวข้อ มาตรฐานและแนวปฏิบัติพื้นฐาน: การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนการยุติธรรมไทย (Fundamental standards and practices: Electronic data collection and analysis for judicial process)
พยานหลักฐาน เป็นสิ่งที่ใช้ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี ซึ่งรวมถึงแสดงความบริสุทธิ์หรือความผิดของผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคุณค่าของพยานหลักฐานอยู่ที่คุณสมบัติในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ดังนั้น กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องคำนึงถึงการรักษาคุณค่าของพยานหลักฐาน และการแสดงความน่าเชื่อถือในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพยานหลักฐานอย่างสมเหตุผล ในวันนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดทำข้อแนะนำพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุ และในห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน และได้จับมือกันเป็นเครือข่ายของผู้ให้บริการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลในประเทศไทย เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย
กำหนดการ
13.30 - 14.00 น. ลงทะเบียนงาน Open Forum และรับประทานอาหารว่าง
14.00 - 15.30 น. ล้อมวงคุย หัวข้อ มาตรฐานและแนวปฏิบัติพื้นฐาน: การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนการยุติธรรมไทย (Fundamental standards and practices: Electronic data collection and analysis for judicial process) กับวิทยากรรับเชิญ
- เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปกับบทบาทของพยานหลักฐานดิจิทัล
ในกระบวนการยุติธรรม
- บทบาทของพยานหลักฐานดิจิทัลกับการพิสูจน์ความผิดหรือ
ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
- มาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลประเทศไทย
- การรวมตัวของเครือข่ายหน่วยงานที่ให้บริการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล
- เคสที่น่าสนใจ และแชร์ประสบการณ์
วิทยากร
- พันตำรวจโทสุพจน์ นาคเงินทอง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
- นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 2 สำนักงานการสอบสวน
- พ.ต.อ.ดร.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- น.ท.ดร.กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ร.น. ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพเรือ
- นายธงชัย แสงศิริ รองผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงปลอดภัย สพธอ.
ผู้ดำเนินรายการ
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน Senior Consultant, G-Able Co.Ltd
การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนการยุติธรรมไทย Season 2 # 1
* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ
No comments:
Post a Comment