Saturday, October 20, 2018

Digital Forensics:กรณีศึกษา แชทยืมเงิน ใช้ฟ้องศาลได้

Digital Forensics:กรณีศึกษา แชทยืมเงิน ใช้ฟ้องศาลได้ 

​ระวัง! แชทยืมเงิน ใช้ฟ้องศาลได้

Digital Image. money.kapook.com

​​          เมื่อใครที่มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะเป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ มักจะมีคำกล่าวว่า สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงิน เป็นคำติดตลกที่ไม่ต้องการให้ใครมาหยิบยืมเงิน ไม่ว่าจะคนที่สนิทมากหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันหนึ่งในวิธีการยืมเงิน คือ การขอยืมเงินผ่านทางแชท ล่าสุดสำนักงานกิจการยุติธรรมได้เผยแพร่ความรู้ที่ว่า ข้อความในการแชทยืมเงินกัน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการยืมเงินกันเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”​


 

แชทจะเป็นหลักฐานอย่างไร

 
          จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชทที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
​​
          1.ข้อความแชท (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน
          2.บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชทจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้
          3.หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุ วันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ
​​          หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้​

 
ข้อควรระวังการแชทเกี่ยวกับเรื่องเงิน​

 
          การแฮคบัญชีผู้ใช้เพื่อปลอมตัวเป็นเราและนำไปใช้ยืมเงินผู้อื่น จะถือเป็นการยืมเงินด้วยหรือไม่นั้น สิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ได้คือ ไม่ใช่ตัวตนของเราที่เป็นผู้ส่งข้อความแชทเพื่อยืมเงิน ดังนั้น การเข้าถึงระบบแชทในแอพพลิเคชั่นต่างๆ จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น รหัสผ่าน (Password) ควรเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ควรให้ระบบจำรหัสผ่าน (Password) หรือใส่รหัสผ่าน (Password) เองทุกครั้งที่เข้าระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวเราเอง สิ่งที่ควรทำ คือ ควรเก็บข้อมูลบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่านต่างๆ ไว้เป็นเรื่องเฉพาะตัว
 
Digital Image.FB : สำนักงานกิจการยุติธรรม


แชทเรื่องเงิน ที่อาจจะใช้เป็นหลักฐานได้

 
          ถ้าการขอยืมเงินผ่านแชท ถูกตีความว่าเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานได้ การแชทเกี่ยวกับเรื่องเงินเหล่านี้ก็อาจถูกใช้เป็นหลักฐานได้ ยกตัวอย่างเช่น

 
          1. การปลดหนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวถึง การปลดหนี้ ว่า “การปลดหนี้ให้เพียงมีหนังสือเป็นหลักฐานถือเป็นการยกหนี้ให้” ถ้าแชทถือเป็นหนังสือ การแชทว่าจะยกหนี้ให้หรือปลดหนี้ให้ ก็ถือว่าเป็นการปลดหนี้แล้ว ดังนั้น การแชทในทำนองประชดว่า ถ้าคุณไม่อยากคืน ดิฉันก็ขอยกหนี้ให้ ถือว่าเอาบุญ ก็มีโอกาสเข้าข่ายว่าปลดหนี้ให้แล้ว

 
          2. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ต้องทำเป็นหนังสือเป็นหลักฐาน จึงนำมาใช้ฟ้องร้องได้ ดังนั้น การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เช่น แก้ว แหวน เงินทอง หรือซื้อขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะมูลค่ากี่บาท หากมีการแชทที่ตกลงซื้อขายแล้ว ก็เข้าข่ายเป็นหนังสือที่ใช้เป็นหลักฐาน หากไม่ทำตามข้อตกลง จึงนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้ต่อไป

 
          3. พินัยกรรม (แบบธรรมดา) เป็นการแชทและส่งในห้องที่มีบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 คน เพื่อเป็นพยาน ก็อาจเข้าข่ายใช้เป็นแสดงความประสงค์ว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกหลังเสียชีวิตอย่างไรบ้าง


          “แชท” สามารถใช้เป็นหลักฐานในการยืมเงินได้ ส่วนการจัดการเงินด้านอื่นๆ จะสามารถใช้แชทเป็นหลักฐานในการฟ้องได้หรือไม่ คงต้องรอการตีความกันต่อไป อย่างไรก็ตาม แชทเป็นการแสดงตัวตนและเจตนาอีกช่องทางหนึ่ง จึงควรให้ความสำคัญในการแสดงความเห็นหรือส่งข้อความ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม


ที่มา k-expert
        FB : สำนักงานกิจการยุติธรรม

     คดีกระทำความผิดโดยใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ  

     คดีโดนขู่ แฉคลิปลับ แบล็กเมล์​ รีดเอาทรัพย์ 

หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น


* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ

#WindowsForensic #computerforensic #ComputerForensics #dfir #forensics

#digitalforensics #investigation

No comments:

Post a Comment