Monday, March 18, 2019

Digital Forensics:คดีการเงิน ลูกจ้างปลอมเช็คไปเบิกเงิน

Digital Forensics:คดีการเงิน ลูกจ้างปลอมเช็คไปเบิกเงิน

กรณีลูกจ้างปลอมลายมือชื่อของนายจ้างลงในเช็ค และได้นำเช็คที่ปลอมขึ้นมานั้น ไปเบิกเงินออกจากบัญชีธนาคารของนายจ้าง ตลอดระยะเวลากว่าสามปี ลูกจ้างปลอมเช็คทั้งหมด จำนวน 162 ฉบับ นายจ้างสูญเงินไปกว่า 4,700,000 บาท มีประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ คือ ลูกจ้างจะมีความผิดในคดีอาญาข้อหาฐานใดบ้าง และในกรณีนี้ธนาคารต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงธนาคารจะรับผิดชอบเพียงแค่ครึ่งเดียวตามที่ผู้เสียหายให้สัมภาษณ์ได้หรือไม่

ในกรณีนี้ เมื่อผู้กระทำความผิดเป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย และได้ลักเช็คของผู้เสียหายไป จำนวน 162 ฉบับ ดังนั้น ผู้กระทำความผิดจึงมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (11) การปลอมลายมือชื่อของนายจ้างลงในเช็คมีความผิดข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266(4) 
ในส่วนการนำเช็คปลอมไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารเป็นการหลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ผู้กระทำความผิดจึงผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ด้วย เรียกว่า เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด เรียงกระทงลงโทษ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2529
ในส่วนของค่าเสียหาย ลูกจ้างซึ่งได้ลักเช็คของนายจ้างไปเบิกถอนเงิน ย่อมต้องรับผิดเต็มจำนวนเงินที่ได้เบิกถอนเงินออกจากบัญชีของนายจ้าง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในหนี้ที่เกิดจากการละเมิดแก่ฝ่ายผู้เสียหาย จะมากน้อยเพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นข้อสำคัญ คือ ความเสียหายนั้น ได้เกิดขึ้น เพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223, 438 และ 442
 ดังนั้น จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่องๆ ไป ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ฝ่ายใดเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นมากน้อยกว่ากัน โดยศาลจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินอีกครั้ง เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2554
......................................................................

      กรณีทุจริตเงินค่าลงทะเบียนนักศึกษา

        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :- ลูกจ้างประจำเงินงบประมาณ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่การเงินโดยตำแหน่ง ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้รับเงินค่าลงทะเบียนของนักศึกษาเพื่อนำส่งเข้าเป็นรายได้ของคณะตามระเบียบ แต่ปรากฏว่าเมื่อรับเงินแล้ว ได้ทุจริตนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนด โดยมีพฤติการณ์การกระทำดังนี้ จงใจลงวันที่รับเงินในสำเนาใบเสร็จรับเงินไม่ตรงกับวันที่รับเงินค่าลงทะเบียนของนักศึกษาจริง และมีสมุดใบเสร็จรับเงินอยู่ใน    ความครอบครองหลายเล่มในเวลาเดียวกัน และใช้สมุดใบเสร็จรับเงินหมุนเวียนกัน แล้วนำส่งเงินไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่รับจริง ประกอบกับผู้บังคับบัญชามิได้ติดตามตรวจสอบการรับเงินค่าลงทะเบียนของนักศึกษา และมิได้ตรวจสอบการเบิกเล่มใบเสร็จรับเงิน และเรียกคืนใบเสร็จรับเงิน ทุกเล่มที่ใช้เพื่อตรวจสอบการใช้ใบเสร็จรับเงินเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลัง   พ.ศ.๒๕๒๐ ทำให้เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตดังกล่าว
        การลงโทษ  ปลดออกจากราชการ


       กรณีทุจริตเงินยืมทดรองจ่าย
        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :- ข้าราชการ ตำแหน่ง พนักงานการเงินและบัญชี ระดับ ๕ เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ เงินยืมทดรองจ่าย ได้กระทำทุจริตรับเงินสดที่ชำระเป็นค่าส่งใช้เงินยืมทดรองจ่ายแล้วไม่นำส่งเงิน ตามระเบียบในขั้นตอนการส่งใช้เงินยืมทดรองจ่าย โดยมีพฤติการณ์การกระทำดังนี้ เมื่อลูกหนี้เงินยืมทดรองจ่ายนำส่งใช้เงินยืมเป็นเงินสด กลับลงหลักฐานเป็นการส่งใช้เงินยืมด้วยเอกสารใบสำคัญ และ/หรือออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินจำนวนเงินน้อยกว่าความเป็นจริงที่ลูกหนี้เงินยืมทดรองจ่ายนำส่งใช้เงินยืม แล้วนำเงินสดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประกอบกับผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นี้มิได้ตรวจสอบหลักฐานการส่งใช้เงินยืม แต่กลับออกใบเสร็จรับเงินค่าส่งใช้เงินยืมให้แก่ลูกหนี้เงินยืมทดรองจ่ายตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเงินยืมทดรองจ่าย โดยไม่ได้รับเงินหรือตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับ  
        การลงโทษ   ไล่ออกจากราชการ

   
       กรณีทุจริตเงินค่าเอกสารประกอบการเรียนแล้วไม่นำส่งคลัง
        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :-  ข้าราชการ ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา ระดับ ๖  แม้มิใช่เจ้าหน้าที่การเงินโดยตำแหน่ง แต่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับเงินค่าสมัครเข้าร่วมโครงการของคณะ และเงินค่าเอกสารประกอบการเรียนการสอนรายวิชา  แต่เมื่อได้รับเงินไว้แล้วกลับมิได้นำเงินส่งเข้าเป็นรายได้คณะฯ   ตามระเบียบที่กำหนด และได้กระทำการแอบอ้างตำแหน่งหน้าที่  ของตนและของผู้อื่นเรียกเก็บเงินค่าเอกสารประกอบการเรียนการสอน ซึ่งคณะฯ ผลิตขึ้นเพื่อแจกให้นักศึกษาโดยไม่คิดมูลค่า แล้วนำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ประกอบกับ หน่วยงานไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือระบบตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน  ทำให้เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตดังกล่าว
        การลงโทษ   ไล่ออกจากราชการ

       กรณีทุจริตยักยอกเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินบำเหน็จของพนักงานมหาวิทยาลัย
        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :- ลูกจ้างประจำ  ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี เป็นผู้มีหน้าที่บันทึกและนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินบำเหน็จของพนักงานมหาวิทยาลัยเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ด้วยระบบ ATS ได้กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินค่ารักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย โดยวิธีการแก้ไขข้อมูลในแผ่น  Floppy disk ที่นำเงินค่ารักษาพยาบาลและเงินบำเหน็จเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารด้วยระบบ ATS  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยปรากฏหลักฐาน  การโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง ประกอบกับผู้บังคับบัญชามิได้มีการตรวจสอบ และไม่มีระบบสอบทานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
        การลงโทษ   ไล่ออกจากราชการ


      กรณีทุจริตยักยอกเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ
        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :- พนักงานมหาวิทยาลัยเงินรายได้  ตำแหน่ง ผู้ปฏิบัติงานบริหาร (พนักงานธุรการ) แม้มิใช่เจ้าหน้าที่การเงินโดยตำแหน่ง แต่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการจัดการเบิกถอนเงิน        จากบัญชีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกิจกรรมของสำนักงาน  เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินจากบัญชี (บางบัญชี) และถือสมุดบัญชีทั้งหมดของสำนักงาน  ได้กระทำทุจริตยักยอกเงินของสำนักงาน โดยมีพฤติการณ์ดังนี้ ปลอมแปลงเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการเบิกจ่ายเงินออกจากบัญชี โดยวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายการและจำนวนเงินในใบบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน (แผ่นแรก)โดยแผ่นที่สองเป็นเอกสารฉบับจริงที่ผู้บังคับบัญชาลงนามอนุมัติ, ปลอมแปลงเอกสารการนำฝากเงินคืนเข้าบัญชี ได้แก่  ปลอมแปลงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร  รายการบัญชีในสมุดบัญชีธนาคาร โดยวิธีการตัดแปะตราประทับของธนาคาร รวมถึงการตัดต่อข้อความและตัวเลขการเพื่อให้เห็นว่ามีการนำเงินจำนวนดังกล่าวฝากเข้าบัญชีธนาคารเรียบร้อยแล้ว และนำเอกสารดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเพื่อเป็นเอกสารแนบประกอบรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อตรวจสอบ (รายงานการเงิน /รายงานกิจกรรม)
        การลงโทษ   ปลดออกจากราชการ



      กรณีทุจริตยักยอกเงินค่ารักษาพยาบาล
        ข้อเท็จจริงและพฤติกรรมของการกระทำ :- ข้าราชการ ตำแหน่ง นักวิชาการเงินและบัญชี ระดับ ๕ เป็นผู้มีหน้าที่เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยและออกใบเสร็จให้เป็นหลักฐาน ได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่ารักษาพยาบาล โดยมีพฤติการณ์ดังนี้จงใจออกใบเสร็จรับเงินโดยไม่ถูกต้อง (ในรายผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล)โดยวิธีการแยกใบเสร็จรับเงินและสำเนาออกจากกันพิมพ์จำนวนเงินที่ได้รับจริงจากผู้ป่วยลงในใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ ส่วนสำเนาใบเสร็จได้พิมพ์จำนวนเงินน้อยกว่าความเป็นจริง แล้วเก็บเป็นหลักฐานเพื่อนำส่งเงินตามระเบียบ  และโดยการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะปรากฏข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ๒ ข้อมูลจึงได้ดำเนินการยกเลิกใบเสร็จรับเงิน ๑ ฉบับ เป็นผลให้มียอดเงินสดมากกว่าจำนวนเงินตามรายการการรับชำระเงินประจำจุดเก็บเงินที่ตนรับผิดชอบ และหลังจากนั้นได้ทำการปลอมสิทธิ์เพื่อให้เป็นผู้ป่วยตามสิทธิ์ประกันสุขภาพ หรือบัตรทหารผ่านศึก แล้วแต่กรณี
        การลงโทษ   ไล่ออกจากราชการ

Digital Forensics: Case Study

ที่มา: Facebook: ทนายเจมส์ LK
https://bit.ly/2tIwlRe
https://bit.ly/2To6P2g
https://bit.ly/2TtJQTe
โดยศาลจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาตัดสินอีกครั้ง เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2738/2554

หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น

* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย  รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ


#WindowsForensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics  #computerforensic #investigation #cybercrime #fraud

No comments:

Post a Comment