DIGITAL FORENSICS:การสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี
การสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี
ช่วงนี้มีข่าวกำลังแรงเกี่ยวกับเรื่อง พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) แถลงข่าวจะควบคุมตรวจสอบการสนทนาผ่านระบบไลน์ และสมาร์ทโฟนอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิดทางอาญาที่ร้ายแรง โดยเพ่งเล็งไว้ 4 กลุ่ม
1. กลุ่มผู้ค้าอาวุธปืน
2. กลุ่มนักค้ายาเสพติด
3. กลุ่มพวกค้ามนุษย์และค้าประเวณี
4. กลุ่มละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก โดยหลายคนอ้างว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสาร รวมทั้งอ้างว่า ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทนายคลายทุกข์ซึ่งตัวผมเองเป็นนักสืบมานานแล้ว ขอเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยีเป็นรายประเด็นดังนี้
1. การเริ่มต้นการสืบสวนคดีอาญา
ความหมายของการสืบสวน ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(10) บัญญัติว่า “การสืบสวน” หมายความถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด ดังนั้น เจ้าพนักงานหรือตำรวจมีอำนาจกระทำการทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ได้พยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลย ดังนั้น ตำรวจจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในทางปฏิบัติการสืบสวนผู้กระทำความผิดทางอาญามีวิธีการดำเนินการดังนี้
วิธีแรก การล่อซื้อ หมายถึง การใช้บุคคลซึ่งมีความสนิทสนมกับผู้กระทำความผิด เช่น ผู้ที่เคยซื้อยาเสพติดกับผู้ต้องหาเข้าไปล่อซื้อยาเสพติดและให้ชุดจับกุมคอยซุ่มอยู่ในระยะที่มองเห็นพฤติกรรมในขณะส่งมอบยาเสพติดได้ เมื่อเห็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าก็เข้าจับกุมแบบคาหนังคาเขา ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำได้
วิธีที่สอง ไม่สามารถหาคนที่สนิทสนมกับผู้ต้องหาได้ ต้องใช้วิธีการเฝ้าจุดเป็นเวลานานเพื่อดูพฤติกรรมว่า ผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอะไรบ้างและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อขอศาลออกหมายจับ
วิธีที่สาม ใช้วิธีการสะกดรอยบุคคลต้องสงสัย วิธีนี้ใช้ค่าใช้จ่ายมากเนื่องจากต้องเดินทางติดตามผู้ต้องหาไปในสถานที่ต่างๆ มากมายพร้อมบันทึกภาพ บันทึกเสียง เพื่อให้ได้พยานหลักฐานมาประกอบคดี เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับ ผู้ที่สะกดรอยจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสะกดรอยไม่ให้เป้าหมายรู้ตัว และจะต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนเนื่องจากต้องใช้เวลานานมาก
วิธีที่สี่ การแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรมเพื่อให้รู้ข้อมูลภายใน วิธีนี้เป็นวิธีการที่เสี่ยงมากเพราะนักสืบหลายคนอาจจะถูกฆ่าตายถ้าถูกจับได้ จึงต้องระมัดระวังในการใช้วิธีนี้
วิธีที่ห้า การติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังหรือ GPS ในสถานที่ที่ผู้ต้องหาเกี่ยวข้อง เช่น บ้านพัก สถานที่ทำงาน รถยนต์ วิธีการนี้ก็ต้องลงทุนมากหน่อยในการซื้ออุปกรณ์และโปรแกรมต่าง ๆ บางกรณีอาจจะต้องเข้าถึงมือถือของผู้ต้องหาเพื่อใส่โปรแกรม เพื่อจะได้รู้ความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหา
2. เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้
ในกรณีสมาร์ทโฟน เช่น แบล็คเบอร์รี่ ชุดจับกุมจะต้องใช้ฝีมือ(เล่ห์เหลี่ยม) ทำอย่างไรก็แล้วแต่เพื่อให้ผู้ต้องหาบอกรหัสจะได้เข้าถึงข้อมูลในเครื่อง ส่วนใหญ่มักจะพาไปเซฟเฮาส์ ซึ่งผู้ต้องหาทุกคนมักจะยินยอมเพราะกลัวตาย หลังจากนั้นจะพิมพ์ข้อมูลออกจากมือถือ หรือไม่ก็ใช้วิธีการถ่ายภาพหน้าจอที่มีข้อความที่ผิดกฎหมายมาประกอบสำนวน ซึ่งศาลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ในชั้นพิจารณาคดี โดยถือเป็นพยานวัตถุที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226 ส่วนผู้ต้องหามักจะต่อสู้ว่าถูกข่มขู่หรือได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นบทตัดพยานนั้น ในทางปฎิบัติต่อสู้ค่อนข้างยาก มักไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้เพราะส่วนใหญ่ศาลมักเชื่อว่า เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต กระทำไปตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหามาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลย ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยในคำเบิกความของชุดจับกุม การเบิกความของชุดจับกุมสอดคล้องต้องกัน สมเหตุสมผล รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยคือผู้กระทำความผิดตามฟ้อง ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพทันทีในขณะที่ถูกจับกุมโดยไม่มีโอกาสไตร่ตรอง บิดเบือนข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยใจสมัคร นำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนมาเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ ดังนั้น ที่นักวิชาการบางคนให้สัมภาษณ์ว่า จำเลยต่อสู้คดีเรื่องการได้พยานหลักฐานมาโดยวิธีการที่ไม่ชอบนั้น ในทางปฏิบัติพิสูจน์ยาก เว้นแต่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีโอกาสน้อยมากใน ผมว่าความเกือบทุกวันไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะชนะคดีที่โจทก์เป็นพนักงานอัยการ
สุดท้ายนี้ ผมเห็นใจตำรวจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อหน้าที่ในการจับคนร้ายไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ย่อมไม่มีใครพอใจตำรวจอย่างแน่นอน ถึงแม้ผมจะเป็นทนายความ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตำรวจ แต่ก็เห็นใจในการทำหน้าที่ของตำรวจที่กระทำโดยสุจริต เราไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์จนเกินเลยไป จนมองตำรวจเป็นผู้ร้ายเสียเอง เพราะในโลกไซเบอร์โซเชียลมีเดียร์ มีคนร้ายอยู่เต็มไปหมด ดังนั้นจะต้องมีตำรวจไซเบอร์คอยสอดส่องคนร้าย แต่อย่าส่องไปทั่วนะครับ โดยเฉพาะผู้สุจริต ท่านไม่ต้องไปส่องหรอกครับท่านผู้การ ปอท.
ด้วยรักและห่วงใยจากทนายคลายทุกข์
ที่มา:ทนายคลายทุกข์
หมายเหตุ:เนื้อหาในเว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลและเพื่อการศึกษาเท่านั้น
* หากมีข้อมูลข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย รบกวนแจ้ง Admin เพื่อแก้ไขต่อไป
ขอบคุณครับ
#WindowsForensic #computerforensic #ComputerForensics #dfir #forensics #digitalforensics #investigation #cybercrime #fraud #พยานหลักฐานดิจิทัล
No comments:
Post a Comment